On people (TH)

by Methinee Boonyuen
March 22, 2022

กระแสการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในระยะนี้ ทำให้เห็นว่าพวกเขาตระหนักถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งล้วนมีผลต่อการดำเนินชีวิตภายใต้การปกครอง และจุดประสงค์ของการออกมาเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เห็นได้ชัดจากวิกฤตทั้งเรื่องโรคระบาดและความอดอยากตลอดจนความเหลื่อมล้ำ ทั้งในชีวิตจริงและโลกเสมือนบนโครงข่ายไร้สาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “Social Movement” ที่เราต่างล้วนมีประสบการณ์ร่วม

 

หากงานศิลปะคือการสื่อสารรูปแบบหนึ่งแล้วนั้น การสร้างสรรค์อย่างศิลปะก็ย่อมเป็นวิถีทางหนึ่งในการแสดงออกถึงการเคลื่อนไหวต่อประเด็นต่างๆ ในสังคม โดยมีศิลปินเป็นผู้ขับเคลื่อนให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงปัญหาที่ต้องการถ่ายทอดออกมาอย่างมีสุนทรียะ เป็นการเปล่งเสียงของประชาชนในสำเนียงของศิลปะเพื่อตีความและร่วมสร้างประสบการณ์ต่อ “movement” ที่กำลังมีผลต่อสังคมในพื้นที่และเวลานั้นๆ

 

ภาพเหรียญสิบ และหนังสือ Les Misérablesในจิตรกรรมของวิทวัส ทองเขียว หรือภาพของไพ่ทาโรต์ที่ศิลปินนำมาตีความในบริบทของการเมืองไทย โดยกิติคุณ หมั่นกิจ ไปจนถึงงานเรซินที่หล่อจากเมล็ดข้าวโพด ของสิทธิกร ขาวสะอาด ที่หยิบยกเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาเป็นแรงบันดาลใจ ผลงานของศิลปินทั้ง 3 ท่านนี้ได้สะท้อนการเมืองและการอยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบรัฐไทย เมื่อกฎหมายคือคำสั่ง ศาสนาคือคำสอน แม้ปลายทางจะเหมือนกันตรงที่ให้ผู้อยู่ภายใต้ ได้ยึดถือและปฏิบัติตาม แต่วิธีการสื่อสารให้เข้าถึงผู้คนนั้นช่างแตกต่าง อรรคเชฏฐ์ สิกขากุล ตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่า“ความจริงแท้” ในสังคมผ่านจิตรกรรมที่ใช้น้ำยาซักผ้าขาวปาดป้ายเพื่อทำปฏิกิริยาฟอกผืนผ้าสีเหลือง อีกหนึ่งระบบที่มีความสำคัญไม่แพ้ระบบการปกครอง คือระบบการศึกษา ในฐานะอาจารย์ที่ตั้งคำถามกับการออกกฎโดยใช้มาตรฐานและกฎเกณฑ์เดียวกันทั้งระบบ กิติศักดิ์ แก้วดุก ได้ร่วมถ่ายทอดผลงานผ่านประติมากรรมสื่อผสมอันประกอบด้วยพิมพ์สนิมคร่ำครึและไม้ต่างชนิดที่ถูกบีบอัดจนหลอมเหลว

 

Social Movement ที่มีให้เห็นต่อเนื่องกันมาหลายปีในจังหวัดทางภาคเหนือ จนปีหลังๆ มานี้ชาวกรุงเทพก็เจอวิกฤติแบบเดียวกัน นั่นคือปัญหาหมอกควัน pm 2.5 พิชัย พงศาเสาวภาคย์  ได้สะท้อนภาพอากาศที่ปนเปื้อน ผ่านการใช้ผืนผ้าใบหุ้มจับมลพิษที่มาจากท่อไอเสียของยานพาหนะชนิดต่างๆ นอกเหนือจากศิลปินไทยที่ได้พูดถึงสิ่งแวดล้อม ยังมีอีกหนึ่งศิลปินชาวญี่ปุ่น Akira Ishiguro ที่ได้พูดถึง “แอนโทรโพซีน” (Anthropocene) ซึ่งเป็นยุคสมัยทางธรณีวิทยา ผ่านผลงาน paintingสีสดใสแต่เต็มไปด้วยความสับสน คล้ายกับเรากำลังยืนอยู่บนผืนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยขยะอิเล็กทรอนิกส์ และอีกหนึ่ง Social Movement สำคัญที่กำลังพูดถึงในระดับสากลคือการเรียกร้องความเท่าเทียมของกลุ่มกลากหลายทางเพศหากความรักเป็นเรื่องของทุกคนแล้ว LGBTQ ก็อยากให้มองความรักของพวกเขาในฐานะมนุษย์คนนึงที่มีความรักต่อมนุษย์อีกคนนึง โดยไม่มีข้อจำกัดทางเพศสภาพ วิภู ศรีวิลาศ ได้สร้างสรรค์ผลงานที่นำปี ค.ศ. ต่างๆ ที่เกิดmovement ของ LGBTQ มาร้อยเรียงผ่านวัสดุที่มีความหนักแน่นอย่างบรอนซ์  ปลายทางของ movement ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด เชื่อว่าหลายคนนึกถึงวันใหม่ที่สดใสกว่าเดิมเสมอ ใน painting ของสุพจน์ ศิริรัชนีกร จากคอนเส็ปท์ของประโยค “กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ” ในเวลาที่ควรหลับไหล คล้ายเป็นห้วงความคิดที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพื่อรอเวลาที่จะลุกไปทำให้มันเป็นจริงในเวลารุ่งสางของวันใหม่ ดั่งภาพ drawing ด้วยหมึกจีนของ ขวัญชัย ลิชัยกุล ที่พูดถึงการออกเรือไปฝ่ามวลคลื่นไปฝ่าฟัน อักนัยหนึ่งก็คือการออกไปสู้ท่ามกลางความเสี่ยงที่เต็มไปด้วยความหวังว่าจะไปถึงฝั่งฝันดั่งตั้งใจ

 

แง่งามของการสื่อสารผ่านผลงานศิลปะคือการได้นำเสนอประเด็นในสังคมทั้งเรื่องโครงสร้างการปกครอง สิ่งแวดล้อม ศาสนา การศึกษา ไปจนถึง การพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ ให้ผู้ชมได้เข้ามาเสพย์สุนทรียะของานศิลปะไปพร้อมกับตีความผลงานเหล่านั้นด้วยทรรศนะที่แตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล SAC Gallery เองก็คาดหวังที่จะส่งต่อการเคลื่อนไหวนี้เพื่อทำให้ทุกคนเปิดใจรับศิลปะเข้าไปในชีวิตประจำวันมากขึ้น เราจึงได้คัดสรรค์ผลงานรอให้ทุกคนเข้ามารับชมและลองตีความในแบบของตนเอง ตลอดเดือน สิงหาคมนี้ 

About the author

SAC Gallery

Add a comment