การจัดเก็บภาพเขียนสีน้ำมันอย่างถูกวิธี

March 22, 2022

มีผู้ถามมาว่าจะเก็บภาพเขียนสีน้ำมันอย่างไรดี ตามหลักอนุรักษ์ภาพเขียนสีน้ำมันควรเก็บในแนวตั้ง เช่นแขวนบนผนังหรือตะแกรง  หรือวางในชั้นวางของที่ออกแบบพิเศษให้มีความสูงและความลึกมากกว่าความกว้าง จะได้ช่องที่แคบสำหรับวางภาพเขียนในแนวตั้ง  หากจำเป็นต้องวางบนพื้น  ควรหนุนให้ภาพเขียนอยู่สูงกว่าพื้นห้องประมาณ 10 ซม. โดยใช้ก้อนอิฐหรือท่อนไม้หรือโฟมแข็งห่อด้วยแผ่นพลาสติก  เพื่อป้องกันการครูดถูขัดสี และป้องกันน้ำที่อาจเจิ่งนองจากฝนสาด ท่อน้ำแตก น้ำรั่วจากเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรวางซ้อนกันในแนวราบหรือวางพิงกันในแนวตั้งโดยไม่มีอะไรกั้น  หากพื้นที่จำกัดและจำเป็นต้องวางภาพเขียนพิงกันในแนวตั้ง  ควรใช้กระดาษแข็งหรือกระดาษลูกฟูกหรือพลาสติกลูกฟูกขนาดใหญ่กว่าภาพเล็กน้อยคั่นระหว่างภาพ

 

พื้นที่ที่จัดเก็บภาพเขียนสีน้ำมันไม่ควรมีแสงแดดสาดส่อง หากมีฝุ่นมากควรคลุมด้วยผ้าหรือไทเวค (Tyvek) เพื่อให้มีการระบายอากาศได้ดี ไม่ควรห่อด้วยพลาสติกแล้วซีลด้วยเทปกาวจนแน่นหนาเพราะจะเกิดสภาพแวดล้อมที่อับชื้นรอบ ๆ ภาพเขียน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนไม่ควรห่อภาพเขียนสีน้ำมันด้วยแผ่นพลาสติกอย่างแน่นหนา เพราะความชื้นที่ไม้และผ้าใบดูดซับไว้ในวันที่ความชื้นสูงจะทำให้เชื้อราเจริญอยู่ในห่อได้ ทางที่ดีหากอยากห่อด้วยพลาสติกควรทำในช่วงเวลาที่อากาศแห้ง แล้วห่อด้วยผ้าหรือกระดาษก่อนห่อด้วยพลาสติกเพื่อให้ผ้าหรือกระดาษช่วยดูดซับความชื้นที่ระเหยออกมาจากภาพเขียน ช่วยให้ความชื้นบนภาพเขียนไม่สูงพอที่จะเกิดเชื้อรา ควรควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้คงที่ หากไม่มีอุปกรณ์ในการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นควรเพิ่มการระบายอากาศเพื่อไม่ให้มีความร้อนและความชื้นสะสม

 

วัสดุสำคัญที่ใช้สร้างสรรค์ภาพเขียนสีน้ำมันคือกรอบไม้และผ้าใบซึ่งดูดและคายความชื้นได้ดีมาก เมื่อดูดความชื้นจะขยายตัวและหดตัวเมื่อความชื้นลดลง การยืดและหดสลับกันไปมาส่งผลกระทบต่อชั้นรองพื้น ชั้นสี และชั้นสารเคลือบผิว ทำให้ผิวหน้าของภาพเขียนมีรอยแตกร้าวบางครั้งหลุดล่อนเป็นสะเก็ดหรือเป็นแผ่น เพราะฉะนั้นการควบคุมความชื้นให้คงที่ตลอดเวลาจะช่วยป้องกันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

 

 

สำหรับภาพเขียนสีน้ำมันที่เก่าและบอบบางเสี่ยงต่อการชำรุดควรจัดเก็บในกล่องที่ทำจากกระดาษไร้กรด หากจะห่อภาพเขียนสีน้ำมันด้วยพลาสติกกันกระแทกควรหันด้านที่มีผิวหน้าเรียบเข้าหาด้านหน้าของภาพ ไม่ควรหันด้านที่มีฟองอากาศเข้าหาชั้นสี  เพราะมีผิวสัมผัสขรุขระที่อาจทำให้เกิดการครูดถูขัดสีและอาจทำให้เกิดรอยประทับเป็นรูปกลม ๆ การห่อเพื่อจัดเก็บระยะยาว ไม่ควรซีลแน่นหนาควรปล่อยให้มีช่องว่างที่ความชื้นจะระเหยออกไปได้

 

เรื่องโดย: อาจารย์จิราภรณ์ อรัณยะนาค

ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์

นักอนุรักษ์ SAC Conservation Lab

 


 

หากคุณกำลังมองหาที่ปรึกษาเรื่องเก็บรักษางานสะสมของคุณ สามารถปรึกษาเราได้ที่ “SAC Conservation Lab

บริการด้านการอนุรักษ์และซ่อมแซมศิลปะวัตถุโดยทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ ให้บริการทั้งทางด้านการปรึกษาแนวทางและบริการด้านการอนุรักษ์

สามารถดูรายละเอียดเพื่มเติมได้ ที่นี่

 

ติดต่อขอรับบริการและสอบถามทาง:

อีเมล: pornganok@sac.gallery

โทรศัพท์: 088-942-2965

Line Official: @sacbangkok

About the author

SAC Gallery

Add a comment