OPEN HOURS:
Tuesday - Saturday 11AM - 6PM
Close on Sunday, Monday and Pubilc Holidays
For more information: info@sac.gallery
ตั้งแต่เทปกาวถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เทปกาวก็กลายเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ด้วยความที่ใช้ง่ายจึงถูกไปนำไปใช้งานหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ การซ่อมแซมเอกสารและหนังสือ ตลอดจนใช้ซ่อมแซมงานศิลปวัตถุ แต่จุดแข็งของเทปกาวที่คนทั่วไปชอบนั้น กลับกลายเป็นปัญหาหลักกวนใจนักอนุรักษ์ในเวลาต่อมา เพราะกาวบนเทปกาวนี้ไม่เป็นผลดีต่อวัตถุในระยะยาว
สารเคมีในเนื้อกาวบนเทปใสที่ทำหน้าที่ยึดประสานนี้ จะเกิดการเปลี่ยนสภาพตามกาลเวลา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัววัตถุ เพราะเมื่อเทปกาวเสื่อมสภาพลงตามอายุ ถึงระยะเวลาหนึ่งจะเกิดการเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลจากการทำปฏิกิริยากับอากาศ และจากฝุ่นที่กาวดึงดูดไว้ กลายเป็นคราบเหนียว แห้งและแข็งยึดเกาะติดแน่นกับวัตถุ หลายๆ ครั้งเทปหลุดออกไปแล้วแต่คราบกาวยังอยู่ ไม่สามารถเอาออกได้ด้วยการดึงออกตามปกติ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัตถุเสื่อมสภาพเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะวัตถุประเภทเส้นใยอย่างผ้าและกระดาษซึ่งสามารถดูดซับของเหลวได้ดี การที่จะเอากาวออกทำได้ยากมาก เพราะกาวจากเทปที่แทรกซึมลงไปบนวัตถุ ไม่ได้ยึดติดแค่ชั้นพื้นผิวแต่ยังซึมลึกลงไปถึงเส้นใยด้วย ผลกระทบของกาวบนเทปที่มีต่อเส้นใยนั้นซับซ้อนจนบางคนอาจนึกไม่ถึง นักอนุรักษ์จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงสารเคมีที่จะนำมาใช้ ถึงเรื่องความสามารถในการละลายคราบ ความสามารถในการระเหยของสารเคมีนั้นๆ ที่จะค่อยๆ ทำให้คราบกาวอ่อนตัวหรือบวมขึ้น ก่อนจะค่อยๆ แซะหรือคีบออกมาอย่างระมัดระวัง ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ละลายคราบกาวแล้วแทรกซึมเข้าไปในเนื้อวัตถุจนเกิดเป็นคราบที่ใหญ่และซึมลึกกว่าเดิม
กรณีที่จะยกมาเป็นตัวอย่างนี้ นักอนุรักษ์เพิ่งได้ทำการตรวจสภาพวัตถุซึ่งเป็นพัดผ้าไหมเนื้อบางแบบจีน (Silk Gauze) สองชิ้นประกบกัน ทั้งสองด้านตกแต่งด้วยการเขียนสีลงบนผ้าไหม จากการตรวจสภาพ พบว่ามีการเสื่อมสภาพจากอายุและการใช้งาน บริเวณที่เป็นผ้าไหมมีสภาพแห้งกรอบ มีรอยฉีกขาดของเส้นใยอยู่ทั่วไป และปัญหาสำคัญคือมีการใช้เทปกาวแบบใส ติดไว้บริเวณรอยแตกเพื่อประสานและยึดติดรอยขาดเข้าด้วยกัน
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งจากกรณีนี้คือ การเอากาวออกจะก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อชั้นสีและสารยึดที่อยู่ในสีที่ใช้เขียนภาพด้วย เพราะตัวทำละลายที่จะช่วยเอากาวออก ไม่ได้ทำละลายเฉพาะเนื้อกาวเท่านั้น แต่ยังเข้าไปทำละลายชั้นสีและสารยึดโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แถมคราบกาวบางชนิดยังเหนียวและแห้งมากจนตัวทำละลายทั่วไปไม่สามารถทำละลายได้ ต้องใช้ตัวทำละลายที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลกระทบมากขึ้นต่อชั้นสีและตัววัตถุด้วยเช่นกัน จึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
การนำเทปกาวมาใช้จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ถี่ถ้วน เพราะเทปกาวแทบทุกชนิดสร้างปัญหาทั้งที่มองเห็นได้และมองไม่เห็น บางครั้งความเสียหายเกิดขึ้นไม่มาก แต่หลายๆ ครั้งความเสียหายก็รุนแรงมากจนไม่สามารถย้อนคืนได้
เรื่องโดย: นางสาวปิยะมน กิ่งประทุมมาศ
นักอนุรักษ์ SAC Conservation Lab
หากคุณกำลังมองหาที่ปรึกษาเรื่องเก็บรักษางานสะสมของคุณ สามารถปรึกษาเราได้ที่ “SAC Conservation Lab”
บริการด้านการอนุรักษ์และซ่อมแซมศิลปะวัตถุโดยทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ ให้บริการทั้งทางด้านการปรึกษาแนวทางและบริการด้านการอนุรักษ์
สามารถดูรายละเอียดเพื่มเติมได้ ที่นี่
ติดต่อขอรับบริการและสอบถามทาง:
อีเมล: pornganok@sac.gallery
โทรศัพท์: 088-942-2965
Line Official: @sacbangkok
Tuesday - Saturday 11AM - 6PM
Close on Sunday, Monday and Pubilc Holidays
For more information: info@sac.gallery
092-455-6294 (Natruja)
092-669-2949 (Danish)
160/3 Sukhumvit 39, Klongton Nuea, Watthana, Bangkok 10110 THAILAND
This website uses cookies
This site uses cookies to help make it more useful to you. Please contact us to find out more about our Cookie Policy.
* denotes required fields
We will process the personal data you have supplied in accordance with our privacy policy (available on request). You can unsubscribe or change your preferences at any time by clicking the link in our emails.