OPEN HOURS:
Tuesday - Saturday 11AM - 6PM
Close on Sunday, Monday and Pubilc Holidays
For more information: info@sac.gallery
“วิภู ศรีวิลาศ” เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับอินเตอร์ ทำงานศิลปะมากว่า 2 ทศวรรษ แต่เขาห่างหายจากการงานแสดงนิทรรศการเดี่ยวในไทยมานานนับ 4 ปี
เขาเคยแสดงงานและทำโปรเจกต์มาแล้วหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และอื่นๆ การันตีฝีมือด้วยรางวัลระดับโลก เช่น 2021 Ceramic Artist of the Year โดย American Ceramic Society ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่ออสเตรเลีย วิภูคือศิลปินเซรามิกแถวหน้าของประเทศ เขาปั้นดินด้วยความคิดสร้างสรรค์ และไม่เคยหยุดทำงานศิลปะใน ClayLAB สตูดิโอส่วนตัวในเมืองเมลเบิร์น จนเป็นศิลปินที่ขึ้นชื่อเรื่องความต่อเนื่องด้านการทำงานบนเส้นทางศิลปะ และยังคงสรรหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ผลงานอยู่เสมอ
“วิฬาร์ วิลิศมาหรา: Eleganza Extravaganza Cats” คือนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดที่เขาบินลัดฟ้าพร้อมผลงานชุดใหม่ ส่งตรงจากเมลเบิร์นมายังบางกอก เพื่อแสดงผลงานศิลปะเซรามิกครั้งที่ 3 ณ SAC Gallery (เอส เอ ซี แกลเลอรี) ให้ทุกคนได้ชื่นชมความน่ารักน่าเอ็นดูไปพร้อมกัน
วิฬาร์ วิลิศมาหรา คือนิทรรศการที่โอบรับเอาความหลากหลายบนโลกใบนี้มารวมกัน ศิลปินวัย 50 ต้น รวบรวมเอาความรักและความหลงใหลของตัวเองถึง 3 สิ่งมาไว้ด้วยกัน
หนึ่ง แมวเหมียว
สอง แดร็กควีน
สาม วรรณคดีไทย
ความหลงใหลเหล่านี้ถูกแปรเป็นจินตนาการผสมผสานลงไปในเนื้อดิน ผ่านการนวดอย่างบรรจง และปั้นอย่างละเมียดละไม ออกมาเป็นผลงานทั้งหมดในงานวิฬาร์ วิลิศมาหรา ประติมากรรมนางแมวมากจริตจากบทละครนอกเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เรื่อง “ไชยเชษฐ์” พร้อมกับความเป็นไปได้ใหม่ที่วิภูได้ร่วมงานกับนักออกแบบเสียงอย่าง “เม-ศิรษา บุญมา” ทำให้ “วิฬาร์ วิลิศมาหรา” มีส่วนผสมสดใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่าครั้งไหนๆ
ถ้าคุณติดตามผลงานเซรามิกของศิลปินไทย ชื่อของวิภูเป็นชื่อลำดับต้นๆ ที่ไม่เคยห่างหายไปจากการสร้างสรรค์ผลงานที่ปั้นมาจากจักรวาลดินเหนียว และจินตนาการอันแสนสดใสของเขา วิภูมักบอกเล่าเรื่องราวของคน สิ่งของ ความคิด และวัฒนธรรมอันหลากหลายผ่านชิ้นงานสุดประณีต ภายใต้ปรัชญาการทำงาน 3 ข้อที่เติมเต็มกันและกันอย่างไม่มีวันจางหาย
ACCESSIBLE งานที่เข้าถึงง่าย
POSITIVE งานที่มาพร้อมความคิดเชิงบวก
BEAUTIFUL งานที่มีความงดงาม
ถ้าคุณเคยตกหลุมรักผลงานของเขาผ่านนิทรรศการ “THE MARRIAGE OF SANG THONG, DEVILS AND DEITIES, RED-EARED SOLDIER” ที่เคยจัดแสดงที่ SAC Gallery เราเชื่อว่า คุณจะชื่นชอบ Eleganza Extravaganza Cats ได้ไม่ต่างกัน
เพื่อลงลึกถึงผลงานชุดใหม่ล่าสุดให้มากยิ่งขึ้น วันนี้เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับเบื้องลึกเบื้องหลัง และทำความรู้จักกับวิภูและ “วิฬาร์ วิลิศมาหรา” ไปพร้อมๆ กัน
ถ้าจะให้ดี ลองอ่านบทสัมภาษณ์นี้ประกอบการชมนิทรรศการ แล้วคุณจะยิ่งอินมากขึ้น
สิ่งที่เราไปทำมาเยอะมากเลยนะในรอบสี่ปีที่ผ่านเนี่ย (หัวเราะ) ทั้งพวก Public Art (งานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ) เป็นงานประติมากรรมขนาดใหญ่ติดตั้งกลางแจ้ง
มีนิทรรศการเดี่ยวสามสี่ครั้ง มีโปรเจกต์ที่ทำกับ Online Community ช่วงโควิด-19 เรียกว่า Wellness Deity 2021 และนำโปรเจกต์นี้มาจัดแสดงที่เมืองไทยกับทาง ATTA GALLERY เป็นงานประเด็นเกี่ยวกับการช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างความคิดบวกให้คนในช่วงโควิด-19 ซึ่งช่วงนั้นผู้คนกำลังอยู่ในความรู้สึกโศกเศร้ากันอยู่ ตอนนั้นเป็นช่วงหลังนิทรรศการวิวาห์พระสังข์ (The Course Of True Love 2019) ที่ทำกับ SAC Gallery นี่แหละ
และอีกส่วนมีพาร์ตที่ส่งงานเข้าประกวดแล้วได้รับรางวัล ได้ทำโปรเจกต์ขนาดใหญ่ชื่อ re/JOY Project เป็นงานที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนและการย้ายถิ่นฐานเพื่อตั้งรกรากใหม่ ผ่านวัตถุ (Object) ที่เขาขนมาจากบ้านเมืองเขา ด้วยการเล่าเรื่องผ่านวัตถุของแต่ละบุคคล มันเยอะนะ เราก็จำได้ไม่หมดหรอก (หัวเราะ)
ซึ่ง วิฬาร์ วิลิศมาหรานับเป็นครั้งที่สามที่แสดงเดี่ยวที่ SAC Gallery และเป็นการกลับมาทำ Solo Exhibition ในรอบสี่ปีที่เมืองไทย
โปรเจกต์ไหนที่วิภูทำแล้วชอบมากที่สุดในช่วงเวลาสี่ปีที่ผ่านมา
Wellness Deity 2021 เป็นอันหนึ่งที่ชอบมากนะ และอีกอันคือโปรเจกต์ชื่อ Happy Australian เป็นงานที่ได้รับมอบหมายจาก National Portrait Gallery ที่ Canberra เขาจะจัดงานนิทรรศการฉลองครบรอบ 25 ปี และอยากจะได้รูปพอร์เทรตที่ไม่ใช่รูปแบบปกติ
โดยตั้งโจทย์จากการที่เราอยากรู้ว่า คนออสเตรเลียที่มีความสุข หน้าตาของเขาเป็นแบบไหน เราอยากจะแคปเจอร์สิ่งนี้ เลยตัดสินใจแคปเจอร์ผ่านแฟชั่นด้วยการให้คนมาออกแบบแฟชั่นเป็นชุดที่เขาอยากสวมใส่ในวันที่ตัวเองมีความสุขมากที่สุด แล้วเขียนเหตุผลว่าทำไมถึงอยากใส่มัน จากนั้นก็เอามาจัดสร้างและตีความใหม่ (Reinterpret) ด้วยการปั้นออกมาเป็นเซรามิก เป็นประติมากรรมของเสื้อผ้าชุดนั้น
เราเลือกคนมา 10 คน และชุดแต่ละชุดก็แสดงให้เห็นว่า ความสุขของชาวออสเตรเลียแต่ละคนคืออะไร ยกตัวอย่างเช่น บางคนมีความสุขเพราะงานปาร์ตี้แมลง เพราะเขารู้สึกว่าแมลงในสวนบ้านเขาหายไปหมดแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เขาเลยอยากเห็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดซึ่งเป็นช่วงที่ได้เห็นแมลงกลับมามีชีวิตในสวนของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง จึงออกแบบชุดสำหรับการจิบชายามบ่าย (Afternoon Tea) ซึ่งเป็นชุดที่มีแมลงเป็นองค์ประกอบ
ส่วนอีกคน มีความสุขที่จะได้แต่งงานกับแฟนของตัวเอง เพราะเขาจะแต่งงานกับแฟนที่ Bondi Beach ชายหาดที่ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นช่วงเวลามีค่าที่มีเพียงเขากับแฟนสองคนเท่านั้น
โปรเจกต์นี้ทำให้เรารู้สึกว่า งานศิลปะทำให้บทสนทนาลงลึกเข้าถึงคนได้มากกว่าปกติ เพราะคนเปิดกว้างได้มากขึ้น บางทีเวลานั่งคุยกันตรงๆ อาจจะไม่ได้เมสเสจในลักษณะนี้ แต่เมื่อเราให้คนดีไซน์ชุดของตัวเอง ก็ทำให้ทุกคนเปิดใจที่เล่าเรื่องลึกๆ ได้มากขึ้น และสามารถเอาเรื่องส่วนตัวในชีวิตมาเล่าให้เราฟังผ่านการออกแบบเครื่องแต่งกายของตนเอง
เราคิดว่าการสื่อสารผ่านงานศิลปะคือวิธีการให้คนได้ดีลกับประสบการณ์ที่ซับซ้อน และบางครั้งอาจพูดสื่อสารออกมาได้ยาก บางคนอาจมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมา ทำให้เขาพูดหรืออธิบายไม่ถูก แต่เมื่อให้บอกเล่าผ่านชุด เขาก็สามารถพูดออกมาได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เราสังเกตเห็นว่า วิภูชอบเล่าเรื่องผู้คนออกมาได้อย่างน่ารักและละเมียดละไม ทำไมคุณถึงให้ความสำคัญกับการโฟกัสเทลเล็กๆ น้อยๆ ของมนุษย์
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราทำงานคนเดียวในสตูดิโอส่วนตัว ใน 1 ปี จะทำงานคนเดียวไปแล้ว 10 เดือน เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาที่มีโอกาสจะได้พบเจอคนก็จะมีแค่ช่วงเปิดนิทรรศการแค่ไม่กี่ชั่วโมง เสร็จแล้วเราก็กลับเข้ามาสตูดิโอทำงานต่อคนเดียว เป็นช่วงที่ก็เหงาบ้างนะ (หัวเราะ) เลยตัดสินใจสร้างโปรเจกต์ที่ทำให้ตัวเองไปติดต่อและพูดคุยกับคนได้มากขึ้น เป็นเหมือนเป็นการชาร์จพลังให้ตัวเองไปด้วย
มาคุยกันเรื่องนิทรรศการ “วิฬาร์ วิลิศมาหรา” งานแสดงเดี่ยวล่าสุดของคุณกันบ้างดีกว่า จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้คืออะไร
เริ่มมาจากจุดเล็กๆ คือเราชอบแมว ที่บ้านมีแมวพม่าหน้าสั้นสองตัว ถ้าสังเกตแมวจะอยู่ในงานเรามาหลายรอบแล้ว เลยอยากมาเล่าเรื่องของแมวโดยตรงบ้าง แต่ถ้าจะทำเรื่องแมวอย่างเดียวมันก็ทั่วๆ ไป
ทีนี้พอมาถึงจุดหนึ่ง ย้อนกลับไปในอดีต เราเคยเล่นโขนสมัยเรียนที่โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ยุคนั้นนักเรียนจะได้แสดงโขน มีการไปเล่นที่โรงละครแห่งชาติด้วย ตอนนั้นเราได้แสดงละครนอกเรื่อง “ไชยเชษฐ์” ในเรื่องจะมีตอนหนึ่งที่นางแมวซึ่งเป็นเพื่อนที่คอยช่วยเหลือนางเอกออกมาร่ายรำ จะมีการรำที่เรียกกันว่า “รำฉุยฉายนางวิฬาร์” ตอนเด็กที่ได้เห็นก็รู้สึกว่ามันช่างสวยติดตาติดใจ พูดง่ายๆ คือมันเป็นตัวละครที่ตอแหล (หัวเราะ)
เมื่อพูดถึงเรื่องแมวก็จะนึกถึงเรื่องนี้ แล้วคาแรกเตอร์นางวิฬาร์เนี่ย มันเล่นโดยผู้ชาย เลยคิดเชื่อมไปถึง Drag Queen ซึ่งนางแมวตัวนี้จะใช้ผู้ชายที่มีจริตมาเล่น กิริยาหรือกระบวนการรำจะมีความลอยหน้าลอยตามาก ซึ่งวันเปิดนิทรรศการวิฬาร์ วิลิศมาหราก็มีการแสดงนี้อยู่ด้วย เพื่อให้คนดูได้เข้าใจคอนเซปต์มากขึ้น เลยหยิบจับเอาสองสิ่งนี้มารวมกัน เพราะเรามีความรู้สึกว่า แมวก็มีความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง เหมือนกับแดร็กควีนที่ก็มีความอิสระสูงเช่นกัน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คุณเอานิทานพื้นบ้าน หรือวรรณคดีไทยมาบันดาลใจในการทำผลงาน เพราะที่ผ่านมาก็เคยนำ “หลวิชัย-คาวี” มาเล่าในงาน “Room for Spirit and Time” และ “สังข์ทอง” ในนิทรรศการ “วิวาห์พระสังข์” คุณหลงใหลอะไรในสิ่งนี้
มันอยู่ในจิตใต้สำนึกมั้งครับ พอเราไปอยู่เมืองนอก ต่างบ้านต่างเมือง การจะค้นหาตัวตนหรือเอกลักษณ์ของตัวเองก็ใช้การย้อนกลับมาสำรวจที่วัยเด็กและรากเหง้าของตัวเองว่า จะทำยังไงให้ผลงานของเราแตกต่างจากศิลปินคนอื่นๆ สิ่งที่เรียบง่ายที่สุด คือการกลับมาที่รากเหง้าทางวัฒนธรรมของตัวเอง
เรามักจะนึกถึงวรรณคดีต่างๆ ที่เราเคยเคยเรียนและเคยเล่น แล้วจับเอามาใช้งานในบริบทใหม่ ผ่านการมาตีความใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อสร้างความร่วมสมัย
เรื่องนิทานพื้นบ้านกับเรื่องความหลากหลายและอัตลักษณ์ทางเพศ ดูเหมือนจะอยู่คนละพรมแดน แต่วิภูสามารถนำมาเชื่อมโยงให้เกี่ยวข้องกันได้อย่างไร
บอกไปจะเชื่อไหมนะ (หัวเราะ) ไอเดียมันป๊อปขึ้นมาเอง เวลาทำงานจะมีสมาธิและโฟกัสในการทำงานมาก ฝรั่งเขาเรียกขั้นนี้ว่า “Flow state” คือมีสมาธิการการจดจ่ออยู่กับงาน และอยู่ๆ ไอเดียมันก็เด้งขึ้นมาในหัว แบบว่าไอเดียนี้กับอีกไอเดียสามารถจับมาผสมรวมกันได้นะ เวลาคิดงานไม่ได้มีกระบวนการที่ซับซ้อนมากมายขนาดนั้น เราจะค่อยๆ ปิ๊งขึ้นมาในหัวแล้วเอามาปะติดปะต่อกันทีละนิด จนมีคอนเซปต์ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
เล่าช่วงโปรดักชันตอนทำงานวิฬาร์ วิลิศมาหราให้ฟังได้ไหม ว่าขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงานของคุณเป็นอย่างไร
ถ้าตอนทำโปรดักชัน เราเริ่มจากการเอาดินมารีดเป็นแผ่นก่อน และตัดเป็นแถบๆ เอามาต่อกันๆ เหมือนขดเป็นเส้นๆ เป็นแถบต่อเป็นตัวขึ้นมา แล้วตกแต่งด้วยดอกไม้ปั้น จากนั้นก็นำไปเผา เมื่อเสร็จแล้ว นำมาทาเคลือบและเผารอบที่สอง ตกแต่งด้วยสีทอง ก่อนจะเผาเป็นรอบที่สาม นี่เป็นกระบวนการคร่าวๆในการทำงาน
ทำไมสร้างสรรค์ออกมาเป็นแมวสีขาวและสีดำ
เราเลี้ยงแมวสองตัว ตัวหนึ่งสีอ่อน อีกตัวสีแก่ เป็นฟอร์มของสีที่ดึงบางส่วนมาใช้ในงาน ประกอบกับตอนนี้แมวที่ฮิตกันมากคือแมวสีขาวและแมวดำ ในส่วนของแมวสีขาวและทอง เราทำชิ้นงานออกมาเป็นปกติอยู่แล้ว จึงอยากลองสร้างแมวสีอื่นขึ้นมาดูบ้าง เลยเลือกทำแมวดำขึ้นมา เพราะมันเป็นแมวที่ฉลาดมาก
แต่ก่อนคนมักจะคิดว่าแมวดำเป็นสัตว์ที่นำโชคไม่ดีมาให้ แต่ความจริงแล้วแมวดำเป็นแมวที่น่ารักมาก ยิ่งสีเข้มยิ่งฉลาด เราจะเห็นในสื่อต่างๆ บ่อยๆ ว่า มีคนเลี้ยงแมวดำกันเยอะมาก และคนเลี้ยงก็พามันไปทำกิจกรรมสนุกๆ สารพัด กลายเป็นเรื่องที่ดีของแมวดำในยุคนี้ เพราะปกติเวลาคนรับเลี้ยงแมว เขาก็จะไม่เลือกแมวดำ แต่จริงๆ แล้วแมวชนิดนี้ไม่ได้นำพาโชคร้ายหรือความโศกเศร้าอะไรมาให้คนที่อยู่ใกล้หรอก
แล้วผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาเป็นจานลายแมวล่ะ วิภูอยากสื่อสารถึงเรื่องอะไรบ้าง
ชุดนั้นเป็นจานประดับดอกไม้ ดอกไม้เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารและแสดงออกเรื่องแดร็กควีน เป็นความวิลิศมาหลา ตกแต่งองค์ประกอบต่างๆ ให้หรูหราโอฬารวิจิตรตระการตา
เราเขียนรูปหน้าแมวด้วยสีชมพู ซึ่งเป็นสีที่เชื่อมโยงกับชุมชน LGBTQ+ มานานแล้ว แต่ประวัติศาสตร์ของมันเกิดขึ้นเพราะเรื่องที่ไม่ดี แต่คอมมูนิตี้ก็ได้เปลี่ยนสิ่งที่ไม่ดีนั้น ให้เป็นการโอบรับมัน และกลายเป็นตัวตนของชุมชนของแมว
แมวแต่ละตัววาดมาจากการตีความคาแรกเตอร์ใบหน้าของแดร็กควีนแต่ละคนที่เราเคยเจอมาในชีวิต แต่ละคนถูกถ่ายทอดออกมาเป็นใบหน้าแมว เช่น แมวขาว หรือแมวตัวอ้วน ทั้งหมดเป็นแดร็กควีนที่เคยได้เห็น ทั้งในกรุงเทพฯ ในเมลเบิร์น และที่เคยได้เห็นตามสื่อ ซึ่งเราเป็นแฟนรายการ RuPaul's Drag Race ติดตามดูมาตลอดตั้งแต่ซีซันที่หนึ่ง
นอกจากแมวและจาน ยังมีประติมากรรมคนจัดแสดงด้วย
ใช่ เป็นผลงานสี่ชิ้น เป็น Figure ที่ไม่ได้เป็นแมว ทำมือเป็นรูปตัววี
มีคนถามเราเยอะมากว่า ทำไมมือต้องเป็นรูปตัววี ซึ่งเราทำแบบนี้มาได้สักสามสี่ปีแล้ว จนตอนนี้กลายเป็นลายเซ็นของงานตัวเองไปแล้ว
ตัววีมาจากการที่เราทำซีรีส์นี้ในงานที่ชื่อ “Happy Together” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนโศกเศร้า เราเลยอยากเชียร์ให้คนรู้สึกดีขึ้นมา เลยทำรีเสิร์ชจนพบงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งบอกว่า เมื่อเราดูรูปที่มีความสุข ก็จะทำให้เรามีความสุขตามได้ ดังนั้นเราคิดว่า สิ่งที่ง่ายที่สุดเมื่อต้องการความสุข คือการดูรูปคนที่มีความสุข
ความสุขมันติดต่อกันได้ รูปเซลฟี่เป็นหนึ่งในรูปที่คนดูแล้วแฮปปี้ เราเลยไปเสิร์ชรูปภาพคนที่เซลฟี่บนโลกออนไลน์ ก็ปรากฏมีรูปคนชูสองนิ้ว เราเลยหยิบเอาสิ่งนี้มาใช้ คนเห็นก็จะเข้าใจว่ามันคือ V Sign หรือ Victory Sign มันเป็นตัวแทนของความสุขได้ ด้วย เลยตัดสินใจทำออกมาเป็นตัวฟิกเกอร์ตัวเล็กๆ เต็มไปหมด เพื่อเป็นการสนับสนุนให้คนที่ได้เห็นมีความสุข
อย่างในชุมชน LGBTQ+ ถ้าเราอยู่คนเดียวก็จะลำบากมาก แต่ถ้ามีเพื่อนและมีครอบครัวที่สนับสนุน ชีวิตของเราก็จะผลิบานเหมือนดอกไม้ เราจะเติมเต็ม มีความสุข และดำรงอยู่ได้ต่อไป
ครั้งนี้วิภูยังได้ร่วมงานกับ เม-ศิรษา บุญมา นักออกแบบเสียงด้วย สิ่งนี้ทำให้ วิฬาร์ วิลิศมาหรา สื่อสารได้ลุ่มลึกขึ้นยังไง
ใช่ๆ ทำงานกับ น้องเม-ศิรษา บุญมา ตอนแรกเราอยากได้เป็นซาวนด์รูม ที่มีแค่เสียงแมวเพอร์ เพราะเวลาที่เราไม่สบายใจ แมวจะมีเซนส์ว่า เราไม่แฮปปี้นะ เขาจะมาอยู่บนอกเรา แล้วเพอร์ พอได้ยินเสียงนั้นก็จะรู้สึกผ่อนคลายหายเครียด เลยอยากจะสร้าง Installation ของเสียงนี้ขึ้นมา
ตอนแรกจะให้มีเสียงแมวอย่างเดียว เพราะอยากให้คนที่เข้ามาได้ฟังเสียงของมัน แต่ทางแกลเลอรีอยากจะให้เราลองทำงานกับศิลปินเสียงดูบ้าง เพื่อเพิ่มความลุ่มลึกของงานให้มากขึ้น น้องเมเลยเข้ามาช่วยงานในจุดนี้ เขาได้ฟังคอนเซปต์ก็คิดว่า ถ้าจะให้ดีควรมีทั้งเสียงแมวและเสียงที่เราทำชิ้นงานมารวมกันด้วย จึงเกิดการคิดดนตรีขึ้นมาเพื่อประกอบสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน
ดังนั้น ถ้าได้ฟังก็จะได้ยินเสียงแมว และเสียงที่เราทำประติมากรรมชุดนี้ ผนวกเข้ากับเสียงดนตรีที่เมสร้างขึ้นมาใหม่ พอเข้าไปก็จะได้ยินว่า มีมิติของซาวนด์มากขึ้น ไม่ใช่เสียงแมวเพียงอย่างเดียว
น้องเมให้เราอัดเสียงในสตูดิโอมาหลายๆ รูปแบบ ซึ่งเราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า มันจะสนุกขนาดนี้ ทำให้เราคิดว่า ในอนาคต อาจสามารถนำเอาซาวนด์ต่างๆ ไปไว้ในประติมากรรมของตัวเอง เพื่อสร้างมิติใหม่ๆ ให้งานชิ้นต่อๆ ไปได้ด้วย
นอกจากผลงานที่จัดแสดงในแกลเลอรีเรายังเห็นมุมเล็กๆ ที่มีหนังสือไว้ให้เลือกอ่านกันด้วย
คุณเอิง (จงสุวัฒน์ อังคสุวรรณศิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง SAC Gallery) ซึ่งเป็นคิวเรเตอร์ของนิทรรศการ เขาอยากให้มีสิ่งที่เป็นเหมือนกับห้องสมุดเล็กๆ ที่คนเข้ามาอ่านหนังสือและนั่งดูสิ่งต่างๆ ได้ สิ่งพิมพ์ที่วางอยู่บนชั้น เป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวของแดร็กควีน เรื่องราวของ Same-sex Parents และเรื่องราวของละครนอก เพื่อให้คนที่สนใจได้ศึกษาในระดับเบื้องต้น ถ้าสนใจเรื่องไหน ก็ไปตามหารายละเอียดอ่านเองเพิ่มเติมทีหลังต่อได้ เป็นกิจกรรมเสริมนอกเหนือจากนิทรรศการด้วย
ผลงานของคุณบอกเล่าเรื่องแดร็ก เชื่อมโยงกับละครนอกที่ผู้ชายมารับบทเป็นผู้หญิง คุณคิดว่างานของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความหลากหลายทางสังคมด้วยไหม
เวลาทำงานเราคิดจากเรื่องใกล้ตัวก่อน อย่างเรื่องแมวนี่ก็ใกล้ตัว แดร็กควีนก็ด้วยนะ มันอาจจะไม่ได้เป็นงาน Political Movement (การเคลื่อนไหวทางการเมือง) หรือทำงานเพื่อสนับสนุนแคมเปญ แต่ถ้าเนื้อหาที่พูดถึงความหลากหลายในงานไปช่วยซัปพอร์ตตรงนั้นได้ ก็โอเค
แต่ว่าจุดประสงค์หลักของเรา คือการทำงานเพื่อที่จะสร้างความสุข เพราะว่า ถ้าเรามีความสุขในการทำงาน คนอื่นก็จะรับรู้และสัมผัสได้ แม้ว่า เรื่องอื่นๆ ที่ตามมาอาจจะขึ้นอยู่กับมุมมองของคนดู รวมถึงบริบทที่จะถูกตีความหรือนำไปใช้ต่อในเชิงต่างๆ
มีงานใหญ่ต่อ ชื่อว่า re/JOY Project จัดแสดงที่ซิดนีย์ใน Australian Design Centre เป็นโปรเจกต์เกี่ยวกับผู้อพยพ
เราประกาศหาคนที่ย้ายเข้ามาอาศัยในประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้เขาได้ส่งของแตกหักมาให้เราดู ไอเดียของโปรเจกต์ คือเราต้องการให้ผู้อพยพได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเขา ผ่านวัตถุที่พกเอามาจากบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง แต่เป็นวัตถุที่แตกแล้ว เพื่อถามเขาว่าทำไมเขาถึงพกมันมา เมื่อมันแตกหักไปแล้วรู้สึกยังไง รวมไปถึงการให้แต่ละคนได้เล่าว่า การย้ายจากประเทศบ้านเกิดมาสู่ประเทศออสเตรเลียมันต้องผ่านอะไรมาบ้าง
เราอยากให้เขาได้เล่าเรื่องราวตรงนี้ ซึ่งคนทั่วไปอาจจะไม่เคยได้เห็น หรือไม่เคยได้ยินผ่านตัววัตถุที่เขาพกเอามาด้วย เช่น คนหนึ่งเอาถ้วยซุปสองหูมาให้เรา มันแตกไปแล้ว แต่มีความสำคัญกับเขามาก ก็เลยขนมาด้วย เพราะทำให้เขาได้นึกถึงคุณยายของตัวเองตอนอยู่ที่อังกฤษ ทุกๆ วันศุกร์คุณยายจะทำซุปไก่ใส่ในถ้วยนี้ให้เขากินตลอด ก็เลยทิ้งไม่ลงเพราะเป็นตัวแทนของคุณยาย
โปรเจกต์นี้ทำให้เขาได้มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวการย้ายเมืองจากอังกฤษมายังออสเตรเลีย ทั้งการเผชิญกับการทำเอกสารและอีกหลายๆ เรื่อง ทั้งหมดเล่าผ่านวัตถุที่แตกหัก แล้วเราก็เอาเรื่องราวเหล่านั้นมาสร้างเป็นงานประติมากรรมขึ้นมา
งานนี้จะแสดงในปี 2567 แต่ได้เริ่มทำตั้งแต่ปี 2566 เป็นโปรเจกต์ใหญ่ งานชิ้นหนึ่งขนาดประมาณเมตรครึ่ง ซึ่งเราไม่เคยทำชิ้นงานใหญ่ขนาดนี้มาก่อนเลย
ในแง่อาชีพศิลปิน เวลาคุยกับศิลปินแต่ละช่วงวัย ช่วง 20 ปีก็จะมีไฟและมีความทะเยอทะยาน อยากจะเป็น Somebody พอเข้าช่วง 30 ปีก็จะเริ่มนิ่ง เริ่มเก็บเกี่ยวสิ่งที่ได้ทำในช่วง 20 ปี แล้วพอ 40 ปีก็จะเมกชัวร์กับตัวเองได้หลายๆ อย่างมากขึ้น เลยอยากรู้ว่าพอคุณอายุ 50 ปี ผ่านการทำงานศิลปะมาอย่างยาวนานแล้ว คุณมีความคาดหวังอะไรกับเส้นทางชีวิตศิลปินของตัวเอง
คำถามใหญ่เนอะ (หัวเราะ) เราว่าความทะเยอทะยานของตัวเองลดลง
หนึ่ง เริ่มรู้สึกพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ และเข้าใจว่างานที่ทำไม่สามารถทำให้ทุกคนชอบได้ อาจมีบางกลุ่มที่ชอบ และไม่ชอบงานเรา หรืออาจเฉยๆ ก็ได้
สอง เรารู้สึกว่าควรทำงานในส่วนที่เราควบคุมได้ อย่างงาน Biennale หรืองาน Art Basel เราไม่สามารถเอางานเราเข้าไปร่วมเอง นอกจากคิวเรเตอร์จะมาคัดเลือกไป ดังนั้นเราไม่ควรจะเอาจิตใจหรือความสำเร็จไปผูกพันกับตรงนั้น แต่สามารถเอาความสำเร็จมาผูกพันกับงานที่เราทำ เช่น สามารถปั้นงานที่เผาแล้วมันไม่แตก นั่นก็คือความสำเร็จแล้ว เพราะสิ่งนี้เราควบคุมได้มากกว่า
มองอย่างนี้ชีวิตก็ง่ายและมีความสุขมากขึ้น เมื่อก่อนตอนเด็กๆ มีความอยากเยอะอยู่ แต่พอโตขึ้นก็เริ่มคิดว่า โอ้ มันก็ไม่ได้จำเป็นนะ
เราอาจจะอยากให้คนรู้สึกดีไปกับงานที่เราผลิตออกมาด้วย แต่ถ้าเขาไม่รู้สึกก็ไม่เป็นไร แต่ให้เรารู้สึกดีได้ก็เพียงพอแล้ว อันนี้เพียงพอแล้ว
การปั้นดินมันก็ทำให้เราปลงเยอะขึ้น (หัวเราะ) ถ้าเราเผาไปแล้วมันแตก ก็คิดว่า เออ มันแตกไปแล้วทำไงได้ ก็ทำใหม่ แล้วๆ กันไป
ที่คุยเกี่ยวกับนิทรรศการวิฬาร์ วิลิศมาหรา มาทั้งหมด ตอนนี้แมวสองตัวของคุณรู้ตัวหรือยังว่า คุณเอาพวกเขามาเป็นแรงบันดาลใจมาทำงานศิลปะ
ไม่รู้ ถ้ารู้ก็โดนชาร์จเงินสิ เดี๋ยวพอขายงานได้ก็ต้องเอามาแบ่งให้แมว หรือต้องซื้อของเล่นให้แมวที่บ้านด้วย (หัวเราะ)
ร่วมสัมผัสกับเสน่ห์ของมวลแมวอารมณ์ดีในงานนิทรรศการ “วิฬาร์ วิลิศมาหรา: Eleganza Extravaganza Cats” ซึ่งจัดแสดง ณ ชั้น 1 เอส เอ ซี แกลเลอรี วันนี้ - 16 มีนาคม พ.ศ. 2567
เอส เอ ซี แกลเลอรี เปิดทำการทุกวันอังคาร-เสาร์ เวลา 11.00 - 18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์, จันทร์, นักขัตฤกษ์)
สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ 092-455-6294 (ณัฐรุจา)
Tuesday - Saturday 11AM - 6PM
Close on Sunday, Monday and Pubilc Holidays
For more information: info@sac.gallery
092-455-6294 (Natruja)
092-669-2949 (Danish)
160/3 Sukhumvit 39, Klongton Nuea, Watthana, Bangkok 10110 THAILAND
This website uses cookies
This site uses cookies to help make it more useful to you. Please contact us to find out more about our Cookie Policy.
* denotes required fields
We will process the personal data you have supplied in accordance with our privacy policy (available on request). You can unsubscribe or change your preferences at any time by clicking the link in our emails.