สำรวจ ‘เมืองลับแล’ ของ มาเรียม-ธิดารัตน์ จันทเชื้อ ว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่ไม่รู้ว่ามีอยู่กลางกรุง ที่ที่คนในอยากออกและคนนอกไม่อยากเข้า

เรื่อง : พณิช ตั้งวิชิตฤษ์ ภาพ : มาริษา ศรีจันแปลง
February 13, 2024
สำรวจ ‘เมืองลับแล’ ของ มาเรียม-ธิดารัตน์ จันทเชื้อ ว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่ไม่รู้ว่ามีอยู่กลางกรุง ที่ที่คนในอยากออกและคนนอกไม่อยากเข้า

01

ไม่ผิดนักหากกล่าวว่า มาเรียม-ธิดารัตน์ จันทเชื้อ คือศิลปินที่กำลังมาแรงไม่น้อยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ของวงการศิลปะร่วมสมัยบ้านเรา

 

ลวดลายด้ายปักที่สานกันเป็นรูปดาวสกาวบนพื้นหลังสีมืดทึม ถักทอกันเป็นเค้าโครงรูปทรงต่างๆ บ้างเป็นรูปเรขาคณิต สัญลักษณ์ทางศาสนา บ้างเป็นสถาปัตยกรรมอิสลาม หรือไม่ก็ถ่ายทอดอิริยาบถต่างๆ ของผู้คนชาวมุสลิม คือผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้คนจดจำ

 

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักศิลปินมุสลิมคนนี้ นิทรรศการครั้งใหม่ของเธออย่าง ‘เมืองลับแล’  (Invisible Town) ที่กำลังจัดขึ้นที่ SAC Gallery เป็นหนึ่งในสิ่งที่คุณควรมาชมและทำความรู้จักผ่านปูมหลังของชีวิตเธอ 

 

แต่ใครที่ติดตามหรือผ่านตากับผลงานของเธอมาแล้ว นิทรรศการครั้งนี้คือการเปลี่ยนภาพจำจากผลงานแบบเดิมๆ ที่เคยเห็นกัน มาเป็นการพาผู้ชมสำรวจละแวกบ้านที่อาศัยมาแต่เกิด ท่องซอยโรงขยะที่เธอนิยามว่าเสมือนเมืองลับแล เมืองที่คนในอยากออกแต่ออกไม่ได้ และคนนอกไม่คิดอยากเข้าไปอยู่

 

บทสนทนานี้เริ่มต้นขึ้นภายในห้องจัดแสดงชั้นสองของ SAC Gallery ที่เธอยกเอาเมืองลับแลอันเต็มไปด้วยมลภาวะจากชานเมือง มาไว้ใจกลางย่านเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ในวันที่กรุงเทพฯ ก็อบอวลฝุ่น PM2.5 ไม่ต่างกัน 


02

“เวลาคนเห็นเราก็มองว่า เป็นมุสลิมต้องมี Culture ที่น่าสนใจ แต่จริงๆ เราเกิดและโตในครอบครัวที่ต้นตระกูลอยู่ในกรุงเทพฯ หมดเลย ซึ่งในชีวิตจริงเรา สิ่งที่ชัดเจนมากกว่าคือปูมหลัง ความเป็นชนชั้นล่าง ชีวิตที่ดิ้นรน มากกว่าเรื่องศาสนา” มาเรียมเล่าย้อนถึงชีวิตในวัยเด็กที่ไม่ได้สวยหรู ท้องฟ้าไม่ได้มีดาวระยับพรายเหมือนกับผลงานของเธอเลยแม้แต่น้อย

 

“ซอยบ้านเรา คือคนไม่รู้ว่ามีอยู่ แต่ต่อให้รู้ก็ไม่อยากเข้าไป คนข้างในน้อยคนก็มีโอกาสกลับออกมา เพราะเป็นชนชั้นล่าง ต้องตะเกียกตะกาย อัปฐานะตัวเอง เพื่อออกไปอยู่ที่อื่น”

 

การย้อนกลับมามองสิ่งใกล้ตัวอย่างพินิจ เกิดขึ้นในช่วงก่อนและระหว่างโควิด-19 ระบาดหนัก เนื่องจากต้องล็อกดาวน์อยู่กับบ้าน ทำให้เธอพบว่าจริงๆ แล้ว ตัวเองอยู่ใกล้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนในสังคมขณะนี้กำลังตื่นกลัวกว่าที่คิด เพียงแต่ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิตอนนั้นยังเยาว์เกินกว่าจะทำให้ตระหนักถึงเรื่องพวกนี้ 

 

“พอเรากลับมาย้อนดูตัวเรา เราอยู่กับมลภาวะตั้งแต่เด็ก แต่เราไม่เคยรู้ เพราะตอนนั้นเรายังไม่มีการศึกษา สื่อหรือประเทศก็ยังไม่สนใจเรื่องนี้ อีกอย่างมันเกิดที่ในซอยเรา ในหมู่คนส่วนน้อย และเป็นชนชั้นล่างด้วย ไม่มีใครมาสนใจอยู่แล้ว นี่คือเมืองลับแลที่คนไม่อยากเข้าไปยุ่ง” มาเรียมพูดถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชุดใหม่ คือความตั้งใจอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พวกเขากำลังเผชิญ เพื่อหวังว่าสักวันจะมีการแก้ไขอย่างยั่งยืน

 

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นนิทรรศการที่ประกอบไปด้วยงานผสมผสานบนเฟรมผ้าใบและ Installation Art ถ่ายทอดภาพบรรยากาศในชุมชนที่เธอเกิดและโตขึ้นมา

 

นอกจากเรื่องราวที่เปลี่ยนไปจากงานก่อนหน้า ในแง่ของวัสดุและสีสันก็ถือเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในสารบบงานศิลปะของเธอ

 

“ชุดนี้จะต่างชัด เพราะกล้าเล่นกับวัสดุ อันเก่าเป็นขาวดำ เห็นแล้ว Photogenic เห็นแล้วว้าว แต่นี่คือโทนสีกลางๆ เป็นสีที่ไม่ได้ดึงดูดคนขนาดนั้น และเราปักด้ายถี่มาก มองไกลๆ ก็เหมือนปักผ้าเฉยๆ แต่ถ้าเขาไปจะเห็นว่าปักตาแตกเลย เพราะต้องการสื่อถึงความบางเบาของเสียงคนที่อยู่ในที่นั้น” เธออธิบายถึงผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ พร้อมทั้งเผยว่า ถึงแม้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ลายเซ็นประจำตัวอย่างงานปักและลวดลายอิสลามยังคงมีอยู่เช่นเดิม


03 

“ปัจจุบันที่เราเลือกแคปภาพไว้ ก็กำลังจะมีการไล่ที่ สิ่งที่จะแย่คือความทรงจำของเรา เลยเก็บมันไว้ก่อนที่จะไป ในอนาคตอาจเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว รัฐอาจพัฒนาจนดี จนไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่”

 

รูปภาพต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นต้นแบบ คือภาพทิวทัศน์ที่เธอเห็นในซอย ทั้งบ้านเรือน เตาเผาขยะ สุสานรถ และโรงงานรีไซเคิล ซึ่งแสดงออกผ่านการวาดภาพสีน้ำมัน ผสานกับการปักด้ายตามถนัด ลงบนเฟรมสีหม่นตุ่น โดยใช้เทคนิคการมัดย้อมผ้าอย่างไม่ตั้งใจ จนได้สีออกมาฟุ้งคล้ายท้องฟ้าที่คลุ้งไปด้วยฝุ่น ซึ่งเธอต้องการเก็บภาพเหล่านี้เหมือนกับถ่ายรูปเก็บไว้ ก่อนทั้งหมดจะหายไปในอนาคต

 

“เฉดสีเป็นเฉดเดียวกับช่วงที่มีฝุ่นกรุงเทพฯ ดูสวย ดูนวล แต่เป็นสิ่งที่ไม่ดี” เธออธิบายคอนเซปต์เรื่องสีที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่มักใช้เป็นผ้าสีดำ “งานนี้เรามีการโชว์ทักษะปัก ดูนุ่มนวล สวยงาม แต่ปักลงบนพื้นที่ที่ดูไม่สวยงาม”

 

ไม่เพียงแต่โฟกัสเรื่องปัญหาภายในชุมชน งานชุดนี้มาเรียมยังค่อยๆ พาเราถอยออกมามองมุมกว้างขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาเดียวกันในสังคมใหญ่ ที่ต้องเจอกับมลภาวะไม่ต่างกัน

“เรานำเอาภาพตึกภาพอาคารมาเรียงต่อกัน และมีผู้คนเดิน มี Islamic Art เป็นระนาด ขึ้นๆ ลงๆ ให้ชื่องานว่า Smog Town เป็นโทนสีของฝุ่นที่ฉาบไปกับชีวิตของผู้คน ภาพนี้โฟกัสเรื่องฝุ่นในเมืองเป็นสำคัญ เป็นอาคารในเมืองทั่วไปที่ไม่ใช่แถวบ้านเรา มีมัสยิด อาคารพาณิชย์ และผู้คนที่อยู่ข้างนอก”


04

ขณะที่ห้องจัดแสดงด้านในถือเป็นอีกหนึ่งการทดลองทำงานศิลปะแนวใหม่ของศิลปิน ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเทคนิค Painting และงานปักที่ถนัดเท่านั้น เพราะครั้งนี้เธอออกแบบเป็นงาน Installation Art ที่จำลองเมืองลับแลขึ้นมา ด้วยการเนรมิตกำแพงเมืองขนาดใหญ่ 3 ชิ้น อัดแน่นไปด้วยขยะต่างๆ เพื่อสื่อถึงความเป็นอยู่ของคนในบ้านเกิดที่ต้องใช้ชีวิตโดยการปรับตัวเข้ากับขยะ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้สร้างบ้าน หรือนำเหล็กดัดจากกองขยะมาใช้ตกแต่งบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่มาเรียมเคยชินตั้งแต่เด็กจนโต

 

 “บางคนมีฐานะไม่ดี มีแค่ตัวบ้านไม่มีรั้ว เขาก็เอาเหล็กดัดเก่าเชื่อมเป็นรั้ว เชื่อมเป็นผนัง ซึ่งทั้งหมดนี้คือขยะของจริง ที่เราหาได้จากบ้านเรา เพราะครอบครัวเรามีส่วนหนึ่งที่ต้องทำงานกับรัฐ ส่วนหนึ่งเขาก็รับซื้องของเก่าด้วย กระป๋องที่มีอยู่ก็คือรับชั่งกระป๋องขาย วัสดุก็เป็นเหมือนที่ใช้ในบ้าน เหล็กดัดมุ้งลวดของเก่า”

 

ผลงานที่ติดอยู่บนผนังก็มีคอนเซปต์คล้ายกับกำแพงที่กำลังเล่าเรื่องการใช้ชีวิตท่ามกลางกองขยะ โดยเธอออกแบบให้เป็นบานหน้าต่าง นำเอาเหล็กดัดมาเป็นโครง บุด้วยขยะประเภทต่างๆ เช่น กล่องนม แคนวาสเก่า และกิ๊บติดสายไฟ โดยใช้โทนสีที่สดใสสะดุดตา ที่มาของการเลือกสีของหน้าต่างแต่ละบานมาจากโทนสีของศิลปินต่างประเทศที่เธอชอบ เช่น Pablo Ruiz Picasso, Johan Vermeer, Vincent Van Gogh และ Norman Rockwell 

 

“ถึงเรามีชีวิตอยู่ในสังคมนั้น แต่เราก็มีความฝันถึง มีไอดอล” เธอเล่ายิ้มๆ


05 

ความฝันของนักเรียนศิลปะแต่ละคนอาจมีแตกต่างหลากหลาย แต่น่าจะมีจุดร่วมกันประมาณหนึ่ง นั่นคือการมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ได้รางวัลจากงานประกวด จัดแสดงงานในแกลเลอรีชื่อดัง ขายงานได้เงินมาใช้สร้างผลงานชิ้นต่อๆ ไป และท่องไปบนเส้นทางสาย Artist อันสวยหรู ที่ไม่ได้จบอยู่แค่ในประเทศบ้านเกิด ทว่าหมายรวมถึงการออกไปเป็นที่รู้จักในวงการอาร์ตต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนศิลปะไม่ได้มีแห่งเดียว และแต่ละที่มีผลผลิตออกมาแต่ละปีจำนวนมาก นั่นหมายความว่าทั้งหมดเป็นคู่แข่งซึ่งกันและกัน นี่คือธรรมชาติของวงการศิลปะที่เด็กหญิงผู้เรียนเริ่มชั้นมัธยมในสายวิทย์-คณิต และเริ่มต้นวาดรูปจากความชอบการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเธอต้องมาเผชิญ

ภายหลังจากเรียนจบ พระเจ้าก็มอบโอกาสให้ออกไปมองเห็นโลกกว้าง การได้ไปเยือนต่างบ้านต่างภาษา ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ไม่เคยรู้จัก ทั้งการเป็นศิลปินในพำนักที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงได้ไปแสดงงานและดูงานในหลายประเทศ นั่นทำให้เธอพบเจอกับสังคมมุสลิมกว้างขึ้น จากเด็กกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าสังคมมุสลิมใหญ่ๆ เป็นยังไง และได้เห็นสังคมมุสลิมอื่นที่มีวิธีอยู่ร่วมกับคนในประเทศคนละแบบกับที่เคยเห็นมา ซึ่งเธอนำประสบการณ์มาปรับใช้กับงานของตัวเองเสมอ

 

วันนี้อาจพูดได้เต็มปากว่าเธอโกอินเตอร์ตั้งแต่อายุยังน้อย แซงหน้าศิลปินรุ่นเดียวกันหลายคนไปไกลแล้ว ถ้าอย่างนั้น อนาคตมาเรียมอยากขึ้นไปยืนอยู่ตรงจุดไหนของวงการศิลปะ - เราถามเป็นคำถามสุดท้าย

 

“พูดในฐานะเราเป็นชาวต่างชาตินะ เราอยากเป็นหนึ่งในคนที่ถูกอ้างอิงถึงในระบบการศึกษาทางศิลปะ เวลาเราเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ เราอยากเป็นคนในนั้น ที่ถูกพูดถึงว่าคนนี้ทำงานอย่างนี้เป็นต้นแบบแนวทางอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่เราอยากเป็น 

 

“ธิดารัตน์ จันทเชื้อ ตัวแทนของมุสลิมจากชานเมืองกรุงเทพฯ ที่แสดงออกด้วยการปัก Islamic Art พูดถึงเรื่องราวในชีวิตเธอตั้งแต่เด็กจนถึงโต ที่อุดมไปด้วยเรื่องการเมืองการปกครองต่างๆ” มาเรียมค่อยๆ พูดถึงไตเติลที่อยากให้ทุกคนจดจำในวันข้างหน้า

Add a comment